การนำเสนอและแบ่งปันข้อมูลอย่างปลอดภัย


เทคโนโลยีในปัจจุบันเราทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว โดยเฉพาะการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ในแต่ละวันจะมีการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างต่อเนื่อง การแบ่งปันข้อมูลต่างๆ จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อตนเองและผู้อื่น


ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

"ความเป็นส่วนตัว” หรือ “Privacy” เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ที่สังคมยุคใหม่เกือบทุกประเทศให้ความ สำคัญอย่างมาก 


ความเป็นส่วนตัว (Privacy) หมายถึง สิทธิของบุคคลตามหลักขั้นพื้นฐานของกฎหมายที่จะอยู่ตามลำพังโดยปราศจากการรบกวน หรือสอดแทรกจากผู้อื่นที่ทำให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญใจ เสียหาย อับอาย หรือการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ในปัจจุบันข้อมูลส่วนตัวของเราจำนวนมากถูกบันทึกเก็บไว้กับผู้ให้บริการต่างๆ เช่น การเปิดบัญชีธนาคาร, การใช้บัตรเครดิต, การใช้อินเทอร์เน็ต, การสมัครใช้ Facebook หรือ Youtube เป็นต้น ผู้ให้บริการบางรายได้นำข้อมูล และพฤติกรรมการใช้งานส่วนตัวของผู้ใช้บริการไปวิเคราะห์ หรือเปิดเผยข้อมูลต่อองค์กรต่างๆ เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการ ทำให้ผู้ใช้บริการบางรายเกิดความไม่พอใจ และถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว จึงได้เกิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ขึ้น เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่อนุญาตให้นำไปใช้งานหากไม่ผ่านการยินยอมจากเจ้าของข้อมูล

ความเป็นส่วนตัวเกี่ยวข้อมูล (Data Privacy) เป็นการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บรวบรวมและการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล

ความเป็นส่วนตัวในชีวิตร่างกาย (Bodily Privacy) เป็นการให้ความคุ้มครองในชีวิตร่างกายของบุคคลในทางกายภาพที่จะไม่ถูกดำเนินการใดๆ อันละเมิดความเป็นส่วนตัว อาทิ การทดลองทางพันธุกรรม การทดลองยา เป็นต้น

ความเป็นส่วนตัวในการติดต่อสื่อสาร (Communication Privacy) เป็นการให้ความคุ้มครองในความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวในการติดต่อสื่อสารทางจดหมาย โทรศัพท์ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการติดต่อสื่อสารอื่นใดที่ผู้อื่นจะล่วงรู้มิได้

ความเป็นส่วนตัวในเคหสถาน (Territorial Privacy) เป็นการกำหนดขอบเขตหรือข้อจำกัดที่บุคคลอื่นจะบุกรุกเข้าไปในสถานที่ส่วนตัวมิได้ ทั้งนี้รวมทั้งการติดกล้องวีดิโอ และการตรวจสอบรหัสประจำตัวบุคคล
 
ถึงแม้ว่า “ความเป็นส่วนตัว” จะมีหลายประการ แต่ความเป็นส่วนตัวที่หลายประเทศต่างให้ความสำคัญอย่างมาก อันเนื่องจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว คือ “ความเป็นส่วนตัวในข้อมูลส่วนบุคคล”


ตรวจสอบข้อมูลก่อนเผยแพร่

เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบางอย่างบนอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต หรือตรวจสอบโดยภาครัฐก่อนเผยแพร่ ทำให้การรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ต้องอยู่ในดุลพินิจ และวิจารณญาณของผู้รับข้อมูลข่าวสารเอง ถึงแม้จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เข้ามาดำเนินการควบคุม ตรวจสอบ แต่ยังไม่สามารถแก้ไขให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ได้

ผู้รับข้อมูลข่าวสารทุกคนจึงจำเป็นต้องทำการตรวจสอบให้แน่ชัดจากหลายๆ แหล่งข่าว ว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไรก่อนทำการเผยแพร่ข้อมูลต่อ อย่าหลงเชื่อข้อมูลในทันที